ขายอาหารเสริม ราคาส่ง ขายถูกที่สุด ไม่คิดค่าส่ง

ป้าย FAT FREE LOW-FAT , ไม่มีน้ำตาล ที่คิดว่าดี อาจมีอะไรซ่อนอยู่

ป้าย FAT FREE LOW-FAT , ไม่มีน้ำตาล ที่คิดว่าดี อาจมีอะไรซ่อนอยู่

           สินค้าตามซูเปอร์มาร์เก็ต บางทีไม่ได้จะซื้ออะไร แต่ก็เข้าไปเดินดูเพลิน ๆ วันหนึ่งเห็นทางห้างนำเจลลี่หลากสีสันในแพ็จกเกจล่อตาล่อใจมากองอยู่ในกระบะลดราคา จึงหยิบขึ้นมาดู สะดุดตาคำว่า “Fat Free” ที่แปะอยู่หน้าซอง อ่านฉลากอาหารว่ามีส่วนผสมอะไรบ้าง แล้วก็วางลงที่เดิม Fat Free คำ ๆ นี้มีอิทธิพลมากพอที่จะทำให้หลายคนโกยเจลลี่ใส่ตะกร้าไปจ่ายเงินโดยหลงคิดว่าอาหาร “ปลอดไขมัน” คืออาหารที่ดีต่อสุขภาพ รับประทานแล้วคอเลสเตอรอลคงไม่พุ่ง 

            สินค้าอาหารหลาย ๆ อย่าง มักดึงดูดผู้บริโภคด้วยถ้อยคำชวนเชื่อให้คิดว่ามันเป็นของดีมีประโยชน์รับประทานแล้วดีต่อร่างกาย เช่นคำว่า Fat Free- ปลอดไขมัน Low Fat- ไขมันต่ำ Sugar Free- ปลอดน้ำตาล No Added Sugar- ไม่มีน้ำตาลผสม รวมไปถึงคำว่า Diet หรือ Zero แต่ถ้าเราลองอ่านฉลากอาหารจะเห็นว่ามันมีอะไรมากไปกว่านั้น อย่างขนมหรือเจลลี่ที่บอกว่าปลอดไขมันในความเป็นจริงมันอุดมด้วยน้ำตาล แถมยังอาจแต่งกลิ่น แต่งสี แต่งรสเพื่อให้อร่อยขึ้น หลายคนไม่เฉลียวใจว่าการบริโภคน้ำตาลมากเกินไปสามารถทำให้ระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์สูงได้ ขณะที่สารเคมีที่ผสมในอาหารก็เป็นส่วนเกินที่ก่อพิษให้ร่างกาย

             เช่นเดียวกันกับอาหาร Sugar Free หรือที่ระบุอะไรทำนองนี้ ทำให้คนที่รังเกียจน้ำตาลกินดื่มได้สนิทปากเพราะเข้าใจว่าไม่มีน้ำตาล แต่ดูดี ๆ มันอาจมีคำว่า Artificial Sweetener (สารให้ความหวาน) หรือ Aspartame แผงอยู่ Aspartame เป็นสารหวานชนิดหนึ่งที่นิยมใช้ในอุตสาหกรรมอาหารและยังเป็นที่

ถกกันถึงผลข้างเคียงว่าเป็นตัวก่อมะเร็งหรือไม่ มาดูกันว่ามีอาหารอะไรบ้างที่ลวงความเข้าใจของเราว่าน่าจะดีต่อสุขภาพ

            เครื่องดื่มหรือน้ำอัดลมปลอดน้ำตาล นอกจากดับกระหายให้ความสดชื่นแล้ว น้ำอัดลมเองไม่ได้มีคุณประโยชน์อะไรต่อสุขภาพมากนัก นาน ๆ ดื่มทีไม่เป็นไร แต่ถ้าดื่มทุกวันหรือดื่มแทนน้ำเปล่าเลยเนี่ย ออกจะน่ากลัว ทั้งสารให้ความหวาน สารเคมีแต่งกลิ่น สีและรส เมื่อผสมผสานกันแล้วอาจกลายเป็นสูตรค็อกเทลก่อมะเร็งได้ ดื่มน้ำเปล่านั่นแหละดีที่สุด

            น้ำผลไม้ เหมือนจะดีต่อสุขภาพแต่ก็ต้องรู้จักเลือก น้ำผลไม้บางยี่ห้อผสมน้ำตาลมากเกินไป บางยี่ห้อแต่งกลิ่นสีและรส บางยี่ห้ออาจเป็นน้ำผลไม้แท้ 100% ไม่ผสมน้ำตาล แต่รู้ไหม ผลไม้บางอย่างน้ำตาลสูงมากอยู่แล้ว ดื่มบ่อย ๆ ก็อ้วนได้เหมือนกัน น้ำผลไม้หากจะให้ดีคั้นเสร็จดื่มทันทีก่อนที่วิตามินซีจะละลายหายไป จะให้ดีที่สุดรับประทานผลไม้เป็นลูก ๆ น้ำตาลน้อยกว่าแบบคั้น แถมได้ไฟเบอร์ครบครัน

            อาหารว่างเป็นซอง ๆ เช่น บรรดาถั่วต่าง ๆ และเมล็ดพืช เช่น เมล็ดทานตะวัน เมล็ดฟักทอง พยายามเลือกแบบอบแทนแบบทอด เลือกแบบไม่ปรุงรสแทนแบบโรยเกลือหรือคลุกน้ำตาล คลุกช็อกโกแลต แบบทอดเราไม่สามารถหยั่งรู้ว่าน้ำมันที่ใช้ทอดเก่าหรือใหม่แค่ไหน ส่วนเกลือ อาหารแต่ละมื้อมีเกลือมากพอแล้ว รับประทานเยอะไปทำให้ความดันเลือดสูง น้ำตาลเป็นตัวทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายลดลง เลี่ยงได้ควรเลี่ยง

            โยเกิร์ต ดีต่อสุขภาพเนื่องจากมีโปรไบโอติกหรือจุลินทรีย์ดีที่มีประโยชน์ต่อระบบการย่อยอาหาร แต่โยเกิร์ตโดยทั่วไปมักแต่งเติมรสชาติ เพิ่มน้ำตาล เพิ่มรส เพิ่มกลิ่นเพื่อความอร่อย น้ำตาลที่เพิ่มมา เท่ากับแคลอรีที่มากตามไปด้วย ขณะที่สารปรุงแต่งทั้งหลายอาจจะสนองความอร่อยปากแต่เป็นของเกินความจำเป็นที่ร่างกายไม่ได้ต้องการ เลือกโยเกิร์ตคราวหน้า ลองมองหาโยเกิร์ตรสธรรมชาติไม่ผสมน้ำตาล และทำให้อร่อยได้ด้วยการเติมถั่ว ธัญพืชและผลไม้สด (น้ำตาลจากผลไม้ช่วยเพิ่มรสชาติได้ (หรือไม่ก็ผสมน้ำผึ้งลงไปเล็กน้อย เท่านี้ก็ได้คุณค่าทางโภชนาการ ที่สำคัญ โยเกิร์ตควรแช่ในความเย็นต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส ไม่เช่นนั้นแล้ว โปรไบโอติกในโยเกิร์ตจะไม่มีชีวิตเหลือรอด

             ถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง โดยปกติในถั่วเหลืองจะมีไฟโตเอสโตรเจนหรือฮอร์โมนเอสโตรเจนเพศในพืชที่ว่ากันว่าช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งเต้านม มะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์ และลดอาการวัยทองในสตรีหมดประจำเดือน แต่ถ้าฮอร์โมนไม่สมดุล ร่างกายได้รับเอสโตรเจนมากเกิน ในทางกลับกัน เอสโตรเจนอาจเป็นสาเหตุของมะเร็งได้ ดังนั้น ผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ มะเร็งเต้านม มะเร็งมดลูกจึงควรเลี่ยงผลิตภัณฑ์ถั่วเหลืองเพื่อจะได้ไม่เป็นการกระตุ้นอาการ

             อาหารการกินเกี่ยวพันแน่นอนกับเรื่องสุขภาพ ไม่เช่นนั้นคงไม่มีคำพูดฮิตติดปาก “You are what you eat” กินอย่างไรได้อย่างนั้น มีอาหารพะยี่ห้อเพื่อสุขภาพอีกมากมายที่ทำให้เราเข้าใจผิดคิดว่าเป็นประโยชน์และไร้โทษอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะอาหารแปรรูปหรืออาหารสำเร็จรูป แต่เราก็สามารถเลือกสรรได้ด้วยการอ่านฉลากอาหารให้ละเอียด และใช้ดุลพินิจในการตัดสินว่าสิ่งใดสมควรหรือไม่สมควรนำเข้าปากโดยหลัก ๆ แล้ว อาหารที่ดีต่อสุขภาพมักเป็นจำพวกผัก ผลไม้บวกกับหลาย ๆ ปัจจัย เช่น หลีกเลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลและไขมันสูง ดื่มน้ำให้พอ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ เท่านี้ก็น่าจะโอเคระดับหนึ่ง


credit หนังสือ THE FIRST WEALTH IS HEALTH กินดีอยู่ดี  

 

ผู้เขียน วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์ ผู้ให้สาระ และ ความรู้ที่น่าสนใจ