ขายอาหารเสริม ราคาส่ง ขายถูกที่สุด ไม่คิดค่าส่ง

ทำไมต้อง Gluten Free

 อาหาร gluten free

              ที่เมืองไทยมีสินค้าจำพวกนี้จำหน่ายหรือไม่ ผู้เขียนไม่แน่ใจ แต่ถ้าไปเดินซูเปอร์มาร์เก็ตประเทศฝรั่ง เราจะพบเห็นผลิตภัณฑ์ที่ติดฉลาก “Gluten Free” อยู่ทั่วไป ผู้เขียนเคยดูรายการ SME ตีแตก ตอน “ขนมขบคิด” ที่ผู้ประกอบการพยายามจะทำผลิตภัณฑ์ขนมขบเคี้ยวให้ปลอด “กลูเต็น” เพื่อตอบสนองผู้บริโภคที่แพ้ “กลูเต็น” เข้าใจว่าจะมีไม่น้อยที่ยังสงสัยว่า “กลูเต็น” คืออะไร ทำไม่หลายคนเวลาเลือกรับประทานอาหารต้องให้แน่ใจว่าเป็น Gluten Free เท่านั้น วันนี้เราจะมาทำความเข้าใจเรื่องนี้กัน สำหรับคนที่ไม่แพ้กลูเต็นก็อ่านเป็นความรู้ได้ค่ะ

 

            กลูเต็น คือ โปรตีนชนิดหนึ่งที่เป็นองค์ประกอบในข้าวสาลี ข้าวไรย์ และข้าวบาร์เลย์ อาหารที่มีกลูเต็นจึงเป็นอาหารที่มีส่วนผสมของแป้งสาลีและแป้งที่กล่าวมา เช่น ขนมปัง เค้ก คุกกี้ และผลิตภัณฑ์เบเกอรีทั้งหลายแหล่ เนื่องจากกลูเต็นมีคุณสมบัติเพิ่มความเหนียวและยืดหยุ่นในอาหาร มันจึงถูกนำไปเป็นส่วนประกอบในซอสปรุงรสต่าง ๆ อาหารแปรรูปหลากหลายอย่าง และแม้กระทั่งในเครื่องดื่มอย่างเบียร์บางชนิด ก่อนบริโภคจึงควรตรวจสอบฉลากสักนิด

 

คนที่มีปัญหาในการรับประทานกลูเต็นจะแยกออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

 

·     กลุ่มที่เป็นโรค Celiac Disease หรือโรคแพ้กลูเต็น ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายตอบสนองอย่างรุนแรงทันทีที่รับประทานกลูเต็นเข้าไป การตอบสนองดังกล่าวจะทำให้เยื่อบุผนังลำไส้ซึ่งทำหน้าที่ดูดซึมสารอาหารถูกทำลาย กลุ่มนี้แม้ไม่แสดงอาการให้เห็นอย่างชัดเจนว่าแพ้กลูเต็น แต่เป็นกลุ่มที่ควรหลีกเลี่ยงกลูเต็นอย่างเด็ดขาด เพราะในระยะยาว คนกลุ่มนี้อาจเผชิญกับภาวะทุพโภชนาการเนื่องจากเยื่อบุผนังลำไส้ถูกทำลายจนไม่สามารถทำให้ดูดซึมสารอาหารต่าง ๆ ได้

·     กลุ่มที่แพ้กลูเต็น หรือ Gluten Allergyซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันเช่นกัน แต่ไม่จำเป็นว่าคนกลุ่มนี้ต้องเป็น Celiac Disease ในคนกลุ่มนี้ เมื่อรับประทานกลูเต็นเข้าไป มันจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างฮีสตามีนซึ่งเป็นสารที่ก่อปฏิกิริยาการแพ้ เหมือนกรณีของคนที่แพ้อาหารทะเล แพ้ถั่วลิสง หรือแพ้อาหารต่าง ๆ แล้วแสดงอาการ เช่น เป็นลมพิษ ผื่นขึ้น หอบหืดกำเริบ หายใจไม่ออก หรือปวดท้อง เป็นต้น กลุ่มนี้ต้องระวังกลูเต็นเช่นกัน เพราะหากมีอาการแพ้รุนแรงจนช็อกอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

 

·     กลุ่มที่มีปัญหาในการย่อยกลูเต็น หรือ Gluten Intolerance กลุ่มนี้ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ภูมิคุ้มกันหากแต่เป็นเพราะร่างกายต่อต้านอาหารชนิดนั้น ซึ่งแต่ละคนจะมีความไว (Sensitive) ต่ออาหารแต่ละอย่างแตกต่างกันไป เมื่อรับประทานเข้าไป ร่างกายจะแสดงอาการต่าง ๆ เช่น ผื่นขึ้น ท้องอืด ปวดท้อง ปวดศีรษะ หรือ ไม่สบายตัวซึ่งอาการจะไม่รุนแรงเหมือน 2 กลุ่มแรก

 

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ใน  3 กลุ่มที่กล่าวมาจะเลือกไม่รับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของกลูเต็นเนื่องเพราะปัญหาสุขภาพทางกาย แต่ดูเหมือนอาหารกลูเต็นฟรีจะกลายเป็นกระแสที่กำลังได้รับความนิยมไปแล้ว เหมือนเมื่อ 10 กว่าปีก่อนที่มีการจุดประกายอาหาร Fat-Free ให้เป็นอาหารเพื่อสุขภาพ คนที่ไม่ได้มีปัญหาแพ้กลูเต็นก็หันมารับประทานอาหารกลูเต็นฟรีกันเป็นแถว เพราะมองว่าดีต่อสุขภาพกว่า แต่ในความเป็นจริงแล้วหาเป็นเช่นนั้นไม่ แถมอาหารกลูเต็นฟรีบางอย่างยังอาจก่อให้เกิดโรคอ้วนได้เนื่องจากต้องมีการเพิ่มไขมันและน้ำตาลมากขึ้นเพื่อช่วยปรุงแต่งรสอาหาร

 

 

กลูเต็นอาจจะมีคุณสมบัติกระตุ้นการอักเสบ คนที่มีปัญหาด้านสุขภาพกายสมควรเลี่ยง แต่ถ้าไม่ได้แพ้หรือไม่ได้มีปัญหาอะไร ก็รับประทานไปเถอะค่ะในมุมมองของนักโภชนาการ ไม่มีอาหารใดดีหรือเลว สิ่งที่ควรทำคือรับประทานอาหารให้สมดุล อย่าให้มากหรือน้อยเกินไป แต่ถ้าอยากรู้ว่าตัวเองแพ้กลูเต็นหรือไม่ อาจทดสอบง่าย ๆ ด้วยการเลี่ยงรับประทานอาหารกลูเต็นสัก 2-4 สัปดาห์ หลังจากนั้นลองกลับมารับประทานอาหารปกติที่มีกลูเต็น แล้วเปรียบเทียบความแตกต่างดู หรือจะใช้อีกวิธี คือ การตรวจเลือดหาระดับแอนตี้บอดี้บางตัว และการเอาตัวอย่างเนื้อเยื่อลำไส้ไปตรวจก็พบว่าเราเป็นโรค Celiac Disease หรือไม่ หลังจากนั้นค่อยตัดสินใจว่าจะเลือกรับประทานอย่างไร กลูเต็นฟรีหรือไม่ฟรีมีผลต่อสุขภาพแน่นอน


credit หนังสือ THE FIRST WEALTH IS HEALTH กินดีอยู่ดี  

ผู้เขียน วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์ ผู้ให้สาระ และ ความรู้ที่น่าสนใจ