ขายอาหารเสริม ราคาส่ง ขายถูกที่สุด ไม่คิดค่าส่ง

ละเมียดละไม ในการกิน

ละเมียดละมัย ในการกินอาหาร

อาหารเป็นหนึ่งในสี่ปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตของเรา หลายคนกินเพื่ออยู่ แต่มีอีกจำนวนมากที่ถือการกินเป็นความหฤหรรษ์ในชีวิต แต่ไม่ว่าจะกินเพื่ออยู่ หรืออยู่เพื่อกิน เราสามารถผนวกวิถีการกินกับการมีสุขภาพดีได้ มาดูกันค่ะว่า การกินแบบละเมียดละไมนั้นเป็นอย่างไร

1.   เคี้ยวช้าๆ ระบบการย่อยเริ่มที่ปาก การรับประทานแบบรีบๆ เร็วๆ ไม่เพียงแต่อาหารจะไม่ถูกบดเคี้ยวให้ละเอียดซึ่งทำให้กระเพาะทำงานหนักขึ้นแล้ว ยังทำให้อากาศถูกกลืนเข้าท้องมากขึ้น อาจส่งผลให้เกิดอาการท้องอืดท้องเฟ้อได้ การค่อยๆ เคี้ยวอาหาร นอกจากจะเป็นการซึมซาบรสชาติระหว่างเคี้ยว ยังเป็นการกระตุ้นต่อมต่างๆ ให้ผลิตน้ำลาย และสร้างเอนไซม์ที่เอื้อต่อการย่อยอาหารอีกด้วย

2.   รับประทานอาหารให้ครบมื้อ ร่างกายต้องการพลังงานสม่ำเสมอเพื่อคงระดับน้ำตาลในเลือด เมื่อใดที่รู้สึกหิว นั่นเป็นสัญญาณของระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำลง น้ำตาลในเลือดเป็นแหล่งพลังงานที่ร่างกายจะนำไปใช้ในกระบวนการต่างๆ รวมถึงการทำงานของสมองด้วย การอดอาหารมื้อใดมื้อหนึ่งหากว่ารู้สึกหิวจัด เรามักลงเอยด้วยการรับประทานในปริมาณที่มากกว่าปกติ และไม่พิถีพิถันกับการเลือกอาหารนัก ดังนั้น ควรรองท้องด้วยอาหารว่างที่เป็นประโยชน์ เช่น โยเกิร์ต ผลไม้ หรือถั่วต่างๆ แต่อย่าให้อิ่มจัดจนทำให้รับประทานอาหารมื้อหลักไม่ได้

3.   เน้นอาหารปรุงเอง การรับประทานอาหารนอกบ้านเลี่ยงต่อความไม่สะอาด สิ่งปนเปื้อน และสารที่ไม่จำเป็น เช่น ผงชูรส สารกันบูด สีผสมอาหารและอื่นๆ การปรุงอาหารเองทำให้สามารถเลือกวัตถุดิบดีๆ สะอาดถูกหลักอนามัย และได้รสชาติตามที่ต้องการ แต่ต้องระวังนิดหนึ่ง ความอร่อยของอาหารปรุงเองอาจทำให้เรารับประทานจนลืมตัว ดังนั้น เมื่อคะเนว่าใกล้จะอิ่มแล้วให้หยุดรับประทาน เพราะใช้เวลาประมาณ 20 นาทีกว่าสมองจะรับรู้ความรู้สึก “อิ่ม”

4.   ยึดหลักครึ่งสุกครึ่งสด รับประทานผัก ผลไม้ให้มากพอ และครึ่งหนึ่งของผักผลไม้ที่รับประทานควรเป็นแบบสดที่ไม่ผ่านการปรุง เช่น สลัดผัก ผลไม้สด ผักสดกับน้ำพริก เป็นต้น ผักและผลไม้สดจะมีเอนไซม์ที่ช่วยระบบการย่อยอาหาร หากเราทำให้สุก ความร้อนที่เกิดจากการปรุงทำลายเอนไซม์บางส่วนไป

5.   น้ำดื่มสำคัญ ดื่มน้ำสะอาดให้ได้วันละไม่ต่ำกว่า 2 ลิตร (ประมาณ 8 แก้ว) เพื่อชดเชยกับน้ำที่ถูกขับออกจากร่างกายในแต่ละวัน ระหว่างรับประทานอาหารดื่มน้ำได้ 1 แก้ว และไม่ควรมากไปกว่านี้ เพราะจะทำให้น้ำย่อยในกระเพาะเจือจางส่งผลให้การย่อยอาหารไม่เต็มประสิทธิภาพ

6.   เคร่ง 90 หย่อน 10 ไม่จำเป็นต้องรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพทุกมื้อ ทุกเวลา อาจจะมีบ้างสักสิบเปอร์เซ็นต์ที่เราเจียดพื้นที่ในกระเพาะให้บรรจุอาหารที่เราอยากรับประทานตามใจปาก กำหนดให้ 1 วัน ในแต่ละสัปดาห์เป็น “Free Day” อยากรับประทาน อยากดื่มอะไร ให้ทำในวันนี้วันเดียว หลังจากนั้นค่อยกลับมาดูแลสุขภาพเหมือนเดิม

7.   รับประทานให้สมดุล ไม่มีอาหารใดดีหรือเลว อย่ารู้สึกผิดหากคุณชอบรับประทานอาหารมันๆ เกลือสูง น้ำตาลเพียบ เมื่อยังทำใจให้เลิกไม่ได้ก็ให้ลดปริมาณและความถี่ในการบริโภค พร้อมกันนั้นก็พยายามรับประทานอาหารอย่างอื่น เช่น ผัก ผลไม้ อาหารที่มีไฟเบอร์สูง ธัญพืช เข้าไปคานเพื่อให้เกิดความสมดุลหรือจะใช้วิธีทดแทนกัน เช่น เปลี่ยนจากนมวัวที่มีไขมันสูงเป็นนมถั่วเหลืองเพียวๆ ไขมันต่ำ ใช้สารสกัดจากหญ้าหวานซึ่งให้ความหวานแต่ไม่ให้แคลอรีแทนน้ำตาล เน้นโปรตีนจากพืช (อาหารตระกูลถั่วทั้งหลาย) แทนเนื้อแดงหรือเนื้อสัตว์ที่มีไขมันอิ่มตัวสูง เป็นต้น

8.   รับประทานอาหารให้หลากหลาย ร่างกายต้องการสารอาหารกว่า 40 ชนิดแตกต่างกันไป การรับประทานอาหารเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ทำให้ได้คุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน ดังนั้น จึงควรสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียน การรับประทานอาหารซ้ำๆ ติดต่อกันเป็นเวลานาน นอกจากจะทำให้ขาดสารอาหารบางอย่าง ยังเสี่ยงต่อการสะสมพิษในร่างการอีกด้วย

เปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ การเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานเป็นเรื่องไม่ง่ายนักเว้นแต่คนที่มุ่งมั่นจริงจึงจะทำการ “หักดิบ” เปลี่ยนทันทีในชั่วข้ามคืนได้ ถ้าไม่อยากฝืนใจตัวเองมากนัก ลองค่อยๆ ปรับพฤติกรรม เช่น จากที่ไม่เคยชอบรับประทานปลาด้วยเหตุผลเพราะคาว ลองเริ่มจากการรับประทานปลาทะเลที่คาวน้อยกว่าปลาน้ำจืด และเลือกเมนูอร่อยๆ อาจทำให้รู้สึกชอบขึ้นมาบ้าง พยายามคิดว่าการเปลี่ยนแปลงก็เพื่อจะนำไปสู่สิ่งดีๆ ในอนาคต

 

รักษาน้ำหนักให้ได้มาตรฐาน น้ำหนักมีผลต่อสุขภาพ อ้วนไปก็ไม่ดี เสี่ยงต่อโรครุมเร้า เช่น ความดันสูง โรคหัวใจ หลอดเลือดตีบ เบาหวาน และมะเร็ง ส่วนสาวๆ ที่นิยมความผอมเพรียว หากปล่อยให้หนังหุ้มกระดูก มีโอกาสที่โรคกระดูกพรุนจะถามหา แถวประจำเดือนยังจะมาไม่ปกติอีกด้วย เพื่อให้คงน้ำหนักมาตรฐาน ความชาญฉลาดในการเลือกรับประทานสามารถช่วยได้ ผนวกกับการออกกำลังกายด้วยแล้วจะทำให้สุขภาพดียิ่งขึ้น


credit หนังสือ THE FIRST WEALTH IS HEALTH กินดีอยู่ดี  

 

ผู้เขียน วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์ ผู้ให้สาระ และ ความรู้ที่น่าสนใจ